การจัดตั้งองค์การต่าง ๆ ขึ้นในสถานศึกษาอาชีวเกษตร ปัญหาที่สำคัญเกิดจากสภาพของนักเรียนเกษตรตามสายตาของบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนเกษตรในประเทศใด มักจะมาจากท้องไร่ท้องนา อายุก็ค่อนข้างมากกว่านักเรียนสาขาอื่น ๆ นอกจากนั้นหลักสูตรอาชีวเกษตรในสมัยก่อนยังกำหนดให้นักเรียนต้องทำงานภาคปฏิบัติมากกว่า 50 % ของชั่วโมงเรียน คนที่ทำงานหนักย่อมไม่พิถีพิถันกับการวางตัวและการแต่งกายเวลาเข้าเมืองไปแข่งขันกีฬาในตัวจังหวัดมักจะทำตัวสบาย มักจะถูกล้อเลียนจากกลุ่มนักเรียนสาขาอื่น ๆ อยู่เสมอ จนบางครั้งก็ถึงขั้นเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกัน
ครู – อาจารย์เกษตรแต่ละสมัยต่างก็เข้าใจถึงปัญหาข้อนี้ของนักเรียนเกษตร จึงได้ศึกษาวิธีแก้ไข โดยมีการจัดตั้งชมรม หรือสโมสรนักเรียนเกษตรขึ้นในโรงเรียน เพื่อมุ่งที่จะช่วยพัฒนาบุคลิกภาพและลักษณะการเป็นผู้นำ จะได้ลบล้างปมด้อยที่ถูกคนภายนอกล้อเลียน อีกประการหนึ่งก็เพื่อช่วยพัฒนาผู้นำชนบท ซึ่งกำลังขาดแคลนอย่างมาก (สุรพล สงวนศรี อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้) ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ 70 – 80 ปีก่อน ได้มีชมรมหรือสโมสรประเภทนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนตามชนบทต่าง ๆ แต่ละแห่งได้มีการศึกษา หาวิธีการที่จะฝึกลักษณะผู้นำของนักเรียนโดยอาศัยโครงการเกษตรและกิจกรรมต่าง ๆ เป็นเครื่องมือ
ต่อมาได้มีการประสานงานกันในระดับรัฐจัดตั้งองค์การระดับภาคขึ้นหลายแห่ง จนกระทั่งได้มีการประชุมระดับชาติขึ้น ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2470 ที่เมืองแคนซัสซิตี้ มลรัฐมิสซูรี่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศสหรัฐอเมริกา จากการประชุมครั้งนั้น องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ; FFA (Future Farmers of America) ก็เจริญก้าวหน้าตามลำดับ เป็นเวลาเกือบ 60 ปีที่องค์การ FFA ระดับหน่วยในโรงเรียนต่าง ๆ เป็นองค์การนักเรียนที่มีหลักมั่นคงและมีกิจกรรมที่ดีที่สุด สมาชิกทุกคนได้รับการยกย่องว่า เป็นนักเรียนที่มีความประพฤติเรียบร้อยและเป็นผู้นำชนบทที่ดีมาก กิจการขององค์การ FFA ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและภาคเอกชนอย่างเต็มที่ องค์การระดับชาติสามารถให้บริการแก่สมาชิกอย่างทั่วถึง ทั้ง ๆ ที่ในชั้นแรกได้เก็บค่าธรรมเนียมจากสมาชิกเพียงคนละ 10 เซนต์ต่อปีเท่านั้น แนวคิดในการจัดตั้งองค์การเกษตรกรในอนาคตได้แพร่หลายไปในยุโรปและอเมริกาใต้หลายประเทศ ได้มีการแลกเปลี่ยนสมาชิกให้ไปฝึกอบรมกันในประเทศต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง
ในเอเชีย องค์การประเภทนี้เพิ่มจะเริ่มมีขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยฟิลิปปินส์ได้เริ่มขึ้นเป็นประเทศแรก ติดตามด้วยญี่ปุ่น ส่วนเกาหลีใต้เริ่มก่อตั้งองค์การนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2515 โดยการริเริ่มของสมาคมครูเกษตร
สำหรับประเทศไทยในอดีตได้มีครูเกษตรหลายคน มีโอกาสไปศึกษาดูงานในประเทศสหรัฐอเมริกา บางท่านก็ได้ไปร่วมประชุมองค์การ FFA ระดับชาติด้วย แต่สภาวะและสิ่งแวดล้อมยังไม่อำนวยให้มีการจัดตั้งองค์การประเภทนี้ขึ้นในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 ได้มีครูเกษตร 5 คน ได้รับทุน AID ในเดือนตุลาคมของปีนั้น คือ อาจารย์วิภาต บุญศรีวังซ้ายอาจารย์สุรพล สงวนศรี อาจารย์ขจร ทองอำไพ อาจารย์ประสงค์ วรยศ และอาจารย์สมร ตรีพงษ์ มีโอกาสได้ไปร่วมประชุมองค์การ FFA ระดับชาติ ที่เมืองแคนซัสซิตี้ ทุกคนประทับใจในกิจกรรมขององค์การนี้อย่างยิ่ง จึงได้มีการหารือกันที่จะนำกิจกรรมขององค์การนี้ มาเผยแพร่ในประเทศไทยให้ได้
ในปี พ.ศ. 2503 กรมอาชีวศึกษา ได้จัดให้มีการอบรมผู้บริหาร เรื่องโครงการเกษตรภายใต้การนิเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การยูซ่อมจัดทุนให้โรงเรียนเกษตรกรรมโรงเรียนละหนึ่งแสนบาท เพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้นักเรียนทำโครงการเกษตร ขณะนั้นจึงเป็นโอกาสเหมาะสมที่ควรจะก่อตั้งองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย : อกท. (Future Farmers of Thailand : FFT) เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการทำโครงการเกษตร อาจารย์สุรพล สงวนศรี และอาจารย์ประสงค์ วรยศ ขณะทำการสอนอยู่ที่โรงเรียนเกษตรกรรมเชียงใหม่ (แม่โจ้) ได้ร่วมมือกันทำการร่างธรรมนูญ และแนวทางการจัดตั้งองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย เป็นคู่มือการดำเนินงานองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยโดยอาศัยรูปแบบจาก Future Farmers of -America ( FFA) และ Future Farmers of Philippines (FFP) เป็นหลัก เมื่อมีเอกสารคู่มือแล้วจึงได้ประชุมนักศึกษาชี้แจง ความมุ่งหมาย อุดมการณ์ และวิธีการขององค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักศึกษาแม่โจ้ในครั้งนั้นอย่างมาก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2504 จึงได้ก่อตั้งองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยครั้งแรกขึ้น ที่โรงเรียนเกษตรกรรมเชียงใหม่ (แม่โจ้) ; (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยแม่โจ้)
จุดประสงค์ของผู้ก่อตั้งในครั้งแรก เพื่อต้องการทดลองวิชา โดยคัดเลือกนักศึกษาที่ไม่มีลักษณะผู้นำเลยแต่เป็นผู้ที่มีความตั้งใจจริง มาเป็นสมาชิก อกท. เมื่อได้ดำเนินการฝึกฝนไปตามรูปแบบ อกท.ไปได้ระยะหนึ่ง ปรากฏว่าการทดลองวิชาครั้งนั้นได้ผลดีเกินคาด ได้ฝึกฝนคนที่ไม่เป็นประสาอะไรเลย ให้มาเป็นผู้นำที่ดีได้ในระยะเวลาสั้น ๆ แสดงว่าการใช้วิธีการขององค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยเป็นวิธีที่ดีมาก ในปีต่อมาได้แยกองค์การออกเป็น 2 หน่วย คือ หน่วยสามัญ มีสมาชิกประมาณ 40 คน กับหน่วยวิทยาลัยเพื่อฝึกนักศึกษา ปม.ก. ออกไปเป็นที่ปรึกษา ความสำเร็จของ อกท.ในยุคนั้นจัดได้ว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมเพราะผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ (แม่โจ้) สมัยนั้น คืออาจารย์วิภาต บุญศรีวังซ้าย ที่เคยไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับ FFA มีความเข้าใจในอุดมการณ์ขององค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยเป็นอย่างดี
ในปี พ.ศ. 2506 องค์การยูซ่อม ได้ให้ทุนกรมอาชีวศึกษาจัดพิมพ์คู่มือองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยจากต้นฉบับเดิมที่ผู้ก่อตั้งได้จัดทำไว้ ซึ่งได้รับความสนใจจากอธิบดีกรมอาชีวศึกษาในสมัยนั้นมาก คือ อาจารย์พงศ์ศักดิ์ วรสุนทรโรสถ แต่องค์การนี้มิได้เผยแพร่ออกไปเท่าที่ควร เพราะกรมอาชีวศึกษากำลังขยายงานทางอื่น ๆ อยู่มากในระยะนั้น อย่างไรก็ตามได้มีอาจารย์นิยมศรี นพรัตน์ไปเริ่มงาน อกท. ขึ้นในกรมสามัญศึกษาจนเป็นผลสำเร็จและยังทำกันอยู่จนถึงทุกวันนี้
ระหว่างปี พ.ศ. 2510 – 2516 ผู้เชี่ยวชาญอเมริกาประจำโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาอาชีวศึกษา(ก.พ.อ.) สนใจที่จะฟื้นฟูกิจกรรม อกท. ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ประจวบเหมาะกับในปี พ.ศ. 2514 อาจารย์เพียร จรรย์สืบศรี กลับจากศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกามีความสนใจเป็นพิเศษที่จะส่งเสริมกิจกรรม อกท.ทางผู้เชี่ยวชาญได้ช่วยเหลือสั่งอุปกรณ์และภาพยนตร์เกี่ยวกับ FFAมาช่วยสนับสนุนเผยแพร่กิจกรรม อกท. กับครู – อาจารย์ในโรงเรียนและวิทยาลัยเกษตรกรรมทั่วประเทศ และได้จัดอบรมครูที่ปรึกษาของคณะกรรมการดำเนินงาน อกท. ขึ้น 2 ครั้ง และในขณะเดียวกันอาจารย์บวร เมืองสุวรรณ และอาจารย์นพคุณ ศิริวรรณ ได้ร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญอเมริกาช่วยกันแปลและเรียบเรียงเอกสารคู่มือกิจกรรมนักศึกษาและอกท. ขึ้นประมาณ 10 เล่ม ได้มีพิธีเปิดหน่วยอกท.ขึ้นหลายแห่งในโรงเรียนและวิทยาลัยเกษตรกรรม โดยมีท่านอธิบดีกรมอาชีวศึกษา คืออาจารย์พงศ์ศักดิ์ วรสุนทรโรสถ ไปเป็นประธานการจัดงานประชุมวิชาการของสมาชิก อกท. ระดับชาติหลายครั้ง หลังจากนั้นคู่มือกิจกรรมนักศึกษาและอกท. ที่ได้รับการเรียบเรียงในครั้งแรกก็ได้จัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติกิจกรรม อกท. ของนักเรียน – นักศึกษาอาชีวเกษตรตามโรงเรียนและวิทยาลัยเกษตรกรรมต่าง ๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กิจกรรม อกท. ฟื้นตัวขึ้นมาได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลได้สั่งยกเลิกและยุบองค์การต่าง ๆ ของนักเรียน – นักศึกษาทุกรูปแบบในปี พ.ศ. 2518
ในปี พ.ศ. 2522 หลังจากรัฐบาลได้มีนโยบายให้สถานศึกษาทุกระดับจัดตั้งชมรม องค์การต่าง ๆ ขึ้นภายในสถานศึกษาคู่กับการจัดการเรียนการสอนได้ กองวิทยาลัยเกษตรกรรม ซึ่งมีอาจารย์บุญเทียม เจริญยิ่ง เป็นผู้อำนวยการกองวิทยาลัยเกษตรกรรมอยู่ในขณะนั้น ได้จัดประชุมหัวหน้าสถานศึกษาจากโรงเรียน และวิทยาลัยเกษตรกรรมเพื่อต้องการที่จะรณรงค์ฟื้นฟูกิจกรรมอกท. ให้มาเป็นกิจกรรมหลักของนักเรียน – นักศึกษาอาชีวเกษตรทั่วประเทศ ประกอบกับท่านรองอธิบดีกรมอาชีวศึกษา อาจารย์ปิฎฐะ บุนนาค และท่านอธิบดีกรมอาชีวศึกษา อาจารย์วิเวกปางพุฒิพงศ์ ให้ความสนใจในกิจกรรม อกท. นี้มาก จึงให้การสนับสนุนกองวิทยาลัยเกษตรกรรมแต่งตั้งอาจารย์ดำรง มีแก้วกุญชร ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ อกท.ระดับชาติ วางแผนร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการของสมาชิก อกท. ในระดับภาคทั้ง 4 ภาค โดยภาคกลางจัดขึ้นที่วิทยาลัยเกษตรกรรมชลบุรี ภาคเหนือที่วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงหนือที่วิทยาลัยเกษตรกรรมบุรีรัมย์ และภาคใต้ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมตรัง ส่วนการจัดงานประชุมวิชาการของสมาชิกอกท. ระดับชาติ ได้จัดขึ้นครั้งแรกระหว่างวันที่ 15 – 18 กุมภาพันธ์ 2523 ณ วิทยาลัยเกษตรกรรมศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
ในปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา กิจกรรม อกท. ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างกว้างขวางเป็นที่ยอมรับของคณะครู – อาจารย์ นักเรียน – นักศึกษาอาชีวเกษตร และบุคคลทั่วไป มีการติดต่อกับองค์การต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมศึกษาดูงานระหว่างผู้บริหาร ครูที่ปรึกษา และสมาชิก อกท. กับองค์การต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลียและฟิลิปปินส์ ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบันและในขณะเดียวกันนั้นสมาชิกจากองค์การต่างประเทศก็ได้เดินทางมาศึกษาดูงานกิจการงานฟาร์มของวิทยาลัยเกษตรกรรมต่าง ๆ และร่วมงานการประชุมวิชาการของสมาชิก อกท. ระดับภาคและระดับชาติ ครั้งละหลาย ๆ คนของแต่ละประเทศติดต่อกันมาทุกปี
การฝึกความรู้ความชำนาญด้านอาชีพเกษตรกรรมของสมาชิก อกท. ก็มีการเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับการพัฒนาการศึกษาอาชีวเกษตร โดยได้นำเอาวิชาที่สำคัญ ๆ มาเป็นทักษะที่ใช้แข่งขันทดสอบความรู้ ความชำนาญของนักเรียน – นักศึกษา สมาชิก อกท. ที่ได้เรียนมาจากในชั้นเรียนในการประชุมวิชาการ อกท. ระดับหน่วย ระดับภาค และระดับชาติเป็นประจำทุกปี ซึ่งจัดขึ้นปีละหนึ่งครั้ง ตามลำดับดังนี้
ในปัจจุบัน หากเราจะศึกษาถึงการจัดงานการประชุมวิชาการของสมาชิก อกท. ระดับชาติที่ผ่านมาจะทราบว่า มีบุคคลที่สำคัญ ๆ ระดับชาติ เป็นประธานเปิดงานทุกครั้ง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกรัฐมนตรี ผู้แทนพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานด้วยพระองค์เองอีกด้วย ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงและจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้การจัดงานประชุมวิชาการของสมาชิก อกท. ระดับชาติ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานเปิดงานติดต่อมาทุกปี นอกจากนี้กิจกรรม อกท.ยังเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ
ที่สำคัญยิ่งก็คือ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 เป็นวันที่ชาวองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยทุกคนมีความปลาบปลื้มปิติเป็นล้นพ้นที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยไว้ในพระราชูปถัมภ์ อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่เปรียบมิได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระองค์ท่านให้ความสนพระทัยในกิจการของ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยมาโดยตลอด นับแต่โปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการ อกท. ระดับชาติเป็นครั้งแรก ในการประชุมวิชาการ ระดับชาติ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 4 – 6 กุมภาพันธ์ 2533 ณ วิทยาลัยเกษตรกรรมอุดรธานี โดยมีผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ นายจิต อิสสรีย์ เป็นประธานกรรมการจัดงานยังความปลาบปลื้มแชาว อกท. และพสกนิกรทั่วไปเป็นล้นพ้น
ปัจจุบันมีหน่วย อกท.ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นและมีการดำเนินกิจกรรม อกท.รวมทั้งสิ้น 52 หน่วย แบ่งออกตามภูมิภาคต่างๆ 4 ภูมิภาคดังนี้
อกท.ภาคเหนือ
1 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชร หน่วยกำแพงเพชร
2 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย หน่วยเชียงราย
3 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ หน่วยเชียงใหม่
4 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก หน่วยตาก
5 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ หน่วยนครสวรรค์
6 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร หน่วยพิจิตร
7 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบูรณ์ หน่วยเพชรบูรณ์
8 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา หน่วยพะเยา
9 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่ หน่วยแพร่
10 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน หน่วยลำพูน
11 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย หน่วยสุโขทัย
12 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุทัยธานี หน่วยอุทัยธานี
อกท.ภาคกลาง
1 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี หน่วยกาญจนบุรี
2 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา หน่วยฉะเชิงเทรา
3 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยนาท หน่วยชัยนาท
4 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี หน่วยชลบุรี
5 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี หน่วยเพชรบุรี
6 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร หน่วยบางไทร
7 วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี หน่วยบางพูน
8 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี หน่วยราชบุรี
9 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี หน่วยลพบุรี
10 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี หน่วยสิงห์บุรี
11 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี หน่วยสุพรรณบุรี
12 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว หน่วยสระแก้ว
13 วิทยาลัยประมงสมุทรสาคร หน่วยสมุทรสาคร
อกท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น หน่วยขอนแก่น
2 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ หน่วยชัยภูมิ
3 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา หน่วยนครราชสีมา
4 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ หน่วยบุรีรัมย์
5 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม หน่วยมหาสารคาม
6 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร หน่วยยโสธร
7 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด หน่วยร้อยเอ็ด
8 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ หน่วยศรีสะเกษ
9 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี หน่วยอุดรธานี
10 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี หน่วยอุบลราชธานี
11 วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการโนนดินแดง หน่วยโนนดินแดง
12 วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการดอนตาล หน่วยมุกดาหาร
อกท.ภาคใต้
1 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ หน่วยกระบี่
2 วิทยาลัยประมงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หน่วยเขตรอุดมศักดิ์
3 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร หน่วยชุมพร
4 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง หน่วยตรัง
5 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช หน่วยนครศรีธรรมราช
6 มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ หน่วยนราธิวาส
7 วิทยาลัยประมงปัตตานี หน่วยปัตตานี
8 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพังงา หน่วยพังงา
9 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง หน่วยพัทลุง
10 วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช หน่วยพระพรหม
11 วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ หน่วยพรานทะเล
12 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง หน่วยระนอง
13 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา หน่วยสงขลา
14 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล หน่วยสตูล
15 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี หน่วยสุราษฎร์ธานี